นวัตกรรมสื่อ : เทคโนโลยี พฤติกรรม และ จริยธรรมของสื่อมวลชน (1)


สื่อมวลชนที่เป็นเสาหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เพราะสามารถกระจายข่าวสารได้กว้างขวาง เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด แม้จะเกิดสื่อสมัยใหม่หรือสื่อทางเลือกขึ้น อันได้แก่ สื่อออนไลน์ สื่อดิจิตอล แต่การเข้าถึงผู้รับข่าวสารยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้น สื่อกระแสหลักดั้งเดิมคือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ จึงยังมีอิทธิพลต่อผู้คนเช่นเดิม

แต่อิทธิพลของสื่อกระแสหลักดังกล่าว กำลังถูกท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆแก่สื่อเป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านเทคนิคที่เครื่องมือเครื่องใช้ได้รับการพัฒนาให้มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ราคาถูกลง ประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้น การเป็นเจ้าของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หากพิจารณาในเรื่องการลงทุนแล้ว สามารถทำได้ง่ายขึ้น จึงปรากฏว่า มีสื่อสิ่งพิมพ์น้อยใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการเสนอข่าวสาร เพื่อให้ความรู้ เพื่อความบันเทิง และเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นการเฉพาะมากขึ้น สถานีวิทยุก็สามารถจัดตั้งได้ในทุกสถานที่คือวิทยุชมชน ส่วนสถานีโทรทัศน์ก็ไม่มีความยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน เพราะปัจจุบันสามารถจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม โดยใช้ทุนและเวลาไม่มากนัก ดังนั้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงทำให้เกิดนวัตกรรมของสื่อรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น กระจายข้อมูลข่าวสารถึงผู้รับอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

การเกิดขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่ๆดังกล่าว ข้อดีก็คือ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทำได้มากยิ่งขึ้น ประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนในการบริหารจัดการ สร้างเนื้อหา และพัฒนาสื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนได้มากขึ้น เช่น ดำเนินการผ่านวิทยุชุมชนที่มีการจัดตั้งกันอย่างมากมายในระยะ 4-5 ปีมานี้ ถึงแม้จะมีปัญหาด้านกฎหมายอยู่ก็ตาม ส่วนข้อเสียก็คือ โอกาสที่จะมีการผูกขาดการจัดการข้อมูลข่าวสารก็เกิดขึ้นได้ หากเจ้าของวิทยุชุมชนดังกล่าวไม่ใช่ชุมชน แต่เป็นผู้ลงทุนที่มุ่งแสวงหากำไรจากธุรกิจเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับวิทยุชุมชนดังกล่าว ย่อมเกิดขึ้นกับสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน การเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีกับโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ย่อมมีส่วนในการช่วยกระจายข่าวสารสู่ประชาชนได้ครอบคลุมพื้นที่และประเภทของข่าวสารมากขึ้น แต่การเกิดขึ้นของสื่อใหม่ๆดังกล่าว ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า การดำเนินงานของสื่อได้เป็นไปตามหลักการของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีจรรยาบรรณของสื่อคอยกำกับอยู่หรือไม่ แม้แต่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ในรูปแบบเดิมที่เป็นสื่อมวลชนหลักที่เกิดมาก่อนก็เช่นกัน เพราะปรากฏว่า มีการเผยแพร่ข่าวสารที่มีความหมิ่นเหม่ต่อหลักการของสื่อมวลชนและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอยู่เสมอๆ

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมการกระทำหรือพฤติกรรมของสื่อ มีความเบี่ยงเบนจากจรรยาบรรณและหลักการของสื่อบ่อยขึ้น หรือว่า นี่ก็เป็นนวัตกรรมด้านพฤติกรรมของสื่อ ที่มีผลมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

แต่ก่อนจะวิเคราะห์เจาะจงไปถึงเรื่องพฤตกรรมที่เบี่ยงเบนไปของสื่อ จะขอยกจรรยาบรรณของสื่ออันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ มาเป็นหลักในพิจารณาก่อน (อ้างอิงจาก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อมวลชน” เอกสารการสอน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 9-15 ) คือ

1.จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์ โดย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กำหนด “จริยธรรมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2510 ไว้ดังนี้

(1) ความรับผิดชอบ (Responsibility) ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของปัจเจกชน สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา และราชบัลลังก์ (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ กิจญาณ)

(2) ความมีเสรีภาพ (Freedom) ได้แก่ เสรีภาพที่มีความรับผิดชอบกำกับ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธสาสนาคือ ปวารณา หรือ ธรรมาธิปไตย)

(3) ความเป็นไท (Independence) ได้แก่ ความไม่ตกเป็นทาสของใครทั้งกายและจิตใจ โดยอามิสสินจ้างอื่นใด(ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนาคือ ความไม่ตกเป็นทาสของอกุศลมูล)

(4) ความจริงใจ (Sincerity) ได้แก่ ความไม่มีเจตนาบิดเบือน ผิดพลาดต้องรีบแก้ไข (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สัจจะ)

(5) ความเที่ยงธรรม (Impartiality) ได้แก่ ความไม่ลำเอียง หรือความไม่เข้าใครออกใคร (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ความไม่มีอคติ 4 ประการ หมายถึง “ฉันทาคติ” ลำเอียงเพราะรัก “โทสาคติ” ลำเอียงเพราะชัง “ภยาคติ” ลำเอียงเพราะกลัว “โมหาคติ” ลำเอียงเพราะหลง)

(6) ความมีน้ำใจนักกีฬา (Fair Play) ได้แก่ การปฏิบัติดีงาม ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สุปฏิบัติ)

(7) ความมีมารยาท (Decency) ได้แก่ การใช้ภาษาและภาพที่ไม่หยาบโลนและลามกอนาจาร หรือส่อไปในทางดังกล่าว (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ โสเจยยะ หรืออาจารย์สมบัติ)

นอกจาก “จริยธรรมของสามาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” แล้ว ยังกำหนด “จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์” ไว้อีก 7 ข้อ คือ

(1) การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เป็นภารกิจอันมีความสำคัญเหนืออื่นใดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์

(2) การเสนอข่าว ภาพ หรือการแสดงความคิดเห็น ต้องเป็นไปด้วยความสุภาพ สุจริต ปราศจากความมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตนหรืออามิสสินจ้างใดๆ

(3) การเสนอข่าว ต้องเสนอแต่ความจริง พึงละเว้นการต่อเติมเสริมแต่ง หากปรากฏว่าข่าวใดๆไม่ตรงต่อความจริงต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว

(4) การที่จะให้ได้ข่าว ภาพ หรือข้อมูลอย่างใดๆมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์

(5) ต้องเคารพต่อความไว้วางใจที่ได้รับมอบหมายจากการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของตน

(6) ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยถือเอาสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือหมู่คณะโดยมิชอบ

(7) ต้องไม่กระทำการใดๆอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ

นอกจาก จริยธรรมหรือจรรยาบรรณที่กำหนดโดย สามาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดังข้างต้นแล้ว สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก็มี จรรยาบรรณของสามคมฯ ให้สมาชิกได้ยึดถือปฏิบัติเป็นหลักเดียวกัน ซึ่งใจความก็ไม่ต่างจากจรรยาบรรณของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงไม่ได้ยกมาไว้ในที่นี้

2. จรรยาบรรณสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดย สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้ตราประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 แบ่งเป็น 5 หมวด คือ หมวดทั่วไป หมวดจรรยาบรรณในการเสนอข่าว หมวดจรรยาบรรณในการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ หมวดจรรยาบรรณในการประกาศโฆษณา หมวดความประพฤติ ในที่นี้จะยกหมวดว่าด้วยการเสนอข่าว มาเป็นหลักในการพิจารณา คือ

(1) ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเท็จ ไม่ว่าลักษณะใดๆ

(2)ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งทำให้ประชาชนเสียขวัญ เกิดการแตกแยกกระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ

(3) ไม่เสนอข่าวและภาพลามกอนาจาร ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

(4) ไม่เสนอข่าวลือและภาพไร้สาระ ชวนให้หลงเชื่องมงาย

(5)ไม่เสนอข่าวลือและภาพไร้สาระ

(6) ไม่สอดแทรกความเห็นใดๆของตนลงไปในข่าว

(7) ในกรณีคัดลอกข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือหนังสืออื่น ต้องแจ้งให้ทราบถึงแหล่งที่มาของข้อความนั้น

(8) ภาษาที่ใช้ในการเสนอข่าวและการบรรยายภาพต้องสุภาพ ปราศจากความหมายในเชิงเหยียดหยาม กระทบกระเทียบ เปรียบเปรย เสียดสี

(9) ไม่ใช้การเสนอข่าวและภาพเป็นไปในทางโฆษณาตนเอง

(10) ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งขัดกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศชาติ

(11) ไม่เสนอข่าวและภาพซ้ำเติม ระบายสี บุคคล องค์กร สถาบัน ซึ่งตกเป็นข่าว

(12) ไม่เสนอข่าวและภาพ ในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามลัทธิความเชื่อศาสนาใดๆ

(13) พึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคล องค์กร และสถาบันอื่นตามกฎหมาย

(14) พึงรับผิดและแก้ไขโดยเปิดเผยและไม่ชักช้าถ้าเกิดความเสียหายแก่บุคคล องค์กร หรือสถาบัน ในการเสนอข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

(15) พึงละเว้นจากการรับอามิสสินจ้างใดๆ ให้ทำหรือละเว้นการกระทำเกี่ยวกับการเสนอข่าวตรงไปตรงมา

หลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณขององค์กรสื่อที่ยกมาข้างต้นนั้น ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อ แต่ต้องเป็นไปโดยเคารพกฎระเบียบและไม่ละเมิดผู้อื่น ทั้งยังกำหนดให้สื่อยึดถือประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นหลัก มีความซื่อตรงต่อผู้มูลข่าวสาร ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ให้เกียรติแก่ผู้อื่น เช่นเดียวกัน

สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ หลักจริยธรรมของสมาคมหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2510) และ จรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ ที่ตราออกมาเมื่อ 13 ปีก่อน (พ.ศ.2538) ยังเป็นสิ่งที่สื่อให้ความสำคัญอยู่หรือไม่ ปฏิบัติตามเพียงใด หรือว่า เป็นข้อกำหนดที่ล้าสมัย ไม่เข้ากับกาลเวลาที่เทคโนโลยีก้าวหน้า มีนวัตกรรมใหม่ๆของสื่อเกิดขึ้นมากมายดังเช่นปัจจุบันนี้แล้ว

(อ่านต่อตอนจบ)

***
Media Talk Blog ย้ายเข้าบ้านตัวเองที่ http://citizenjournal.kosolnet.com ขอเชิญไปเยี่ยมเยือนด้วยครับ ขอบคุณครับ

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง

  1. ขอบคุณที่นำเสนอบทความดีดีครับ

ใส่ความเห็น